ต้นทุนชีวิต" คืออะไร?
ต้นทุนชีวิต มาจากคำว่า Life's Assets หมายถึง ต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้คนๆ หนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง
ต้นทุนชีวิตเป็นปัจจัยสร้าง หรือเป็นปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม ที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้
"ต้นทุนชีวิต" มาจากไหน? จริงๆ เราทุกคนเกิดมามีต้นทุนชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งต้นทุนภายในและต้นทุนภายนอก ต้นทุนนี้จะเพิ่มขึ้นตามการเลี้ยงดูของพ่อแม่ สิ่งแวดล้อมที่ดี และความใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่โลกยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ชีวิตผู้คนมีความเป็นวัตถุนิยม ห่างไกลธรรมชาติมากขึ้น ต้องแย่งกันอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันเรียน แย่งกันทำมาหากิน พ่อแม่จำนวนไม่น้อยพลอยเลี้ยงลูกแบบเครื่องจักรเครื่องยนต์ ขาดความเข้าใจในพัฒนาการ มีความคาดหวังเกินความเป็นจริงจนเกิดความเครียด
เด็กๆ คร่ำเคร่งกับการเรียน ผู้ใหญ่คร่ำเคร่งกับการทำงานหาเงิน การวัดคุณค่าจึงแตกต่างจากอดีต คุณค่าที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีถูกบั่นทอนโดยไม่รู้ตัว เด็กคนไหนโชคดีเกิดมาท่ามกลางครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น มีความเข้าอกเข้าใจกัน ต้นทุนชีวิตก็จะพัฒนาเพิ่มพูนเป็นทุนที่เข้มแข็ง เด็กคนไหนโชคไม่ดีเกิดมาท่ามกลางความขัดสน ด้อยโอกาส เติบโตในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้สิ่งที่ดี ต้นทุนชีวิตก็จะค่อยๆ ถูกบั่นทอน ลดลงไปเรื่อยๆ
ต้นทุนชีวิตจึงไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นของที่มีมาแต่เดิมแล้ว สมัยก่อนสังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสมานฉันท์ อยู่กันด้วยความรัก มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รู้จักการแบ่งปัน การให้ การทำกิจกรรมร่วมกัน นี่คือต้นทุนชีวิตแบบไทยๆ ที่ดีที่เรามีอยู่แล้ว
แต่เมื่อช่วง 10 ปีเศษที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนไปด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและความเป็นสังคมเมือง ที่รุกคืบเข้ามาแทนที่ความงดงามตามวิถีเดิม ครอบครัวเริ่มอ่อนแอ ชุมชนขาดความเข้มแข็ง กิจกรรมระหว่างเพื่อนฝูง เด็ก เยาวชนค่อยๆ ลดน้อยลง การเรียนรู้นอกโรงเรียนในรูปแบบต่างๆ ของเด็ก เยาวชนก็พลอยน้อยลงไปด้วย ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันจึงอ่อนแอลงไปในหลายๆ ด้าน
ถ้า "ต้นทุนชีวิต" ไม่แข็งแรง...
ถ้าต้นทุนชีวิตอ่อนแอ จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมามากมาย ยกตัวอย่าง พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความรัก เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กค้นหาความรักที่เค้าควรจะมีกับพ่อแม่ กับสถาบันการศึกษา หรือกับคนที่เค้าไว้วางใจที่มีความผูกพันไม่เจอ สุดท้าย เค้าจะไปควานหาความรักจากข้างนอก ซึ่งอาจจะเป็นความรักปลอมๆ แล้วก็เกิดพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมตามมา
ยาเสพติด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรากำลังประสบปัญหาอยู่ เราพบประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องประเด็นหนึ่งคือ การสนับสนุนช่วยเหลือ ( support ) ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องเงินทอง แต่หมายถึง การสนับสนุนช่วยเหลือด้วยความรัก ความผูกพัน และการมีสัมพันธภาพที่ดี จากพ่อแม่ที่เข้ามาคลุกวงในแบบจับถูก คือมีความใกล้ชิด แต่มองในมุมบวก รู้ว่าเค้ามีจุดดีเรื่องอะไร และมีจุดอ่อนเรื่องไหน จะเติมเต็มเค้าได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ไปชี้ผิด แล้วเอาแต่กล่าวโทษตำหนิอย่างเดียว
การสนับสนุนช่วยเหลือ ( support ) มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับพ่อแม่ที่ใกล้ชิดตัวเด็กที่สุด ระดับโรงเรียนซึ่งหมายถึงคุณครู ซึ่งคุณครูสมัยก่อนจะรู้รายละเอียดประวัติของเด็กแต่ละคน หรือบางทีรู้จักกระทั่งพ่อแม่ครอบครัวของเด็ก แต่คุณครูในปัจจุบันอาจไม่ได้มองแม้กระทั่งนอกห้องเรียนว่าเด็กใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง แล้วครูเองก็ไม่ได้คลุกวงในแบบ”จับถูก”ด้วย
ตอนนี้ ส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยชอบคลุกวงในแบบ”จับผิด”
เด็กก็เลยต้องปกป้องตัวเอง ตั้งการ์ดไว้ก่อนเลย ระบบการช่วยเหลือจึงไปไม่ถึงตัวเด็ก เด็กจึงต้องใช้ประสบการณ์เดิมๆ หรือลองผิดลองถูกสิ่งแปลกใหม่เพื่อมากลบความเครียด สุดท้ายก็เลยนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องยาเสพติด ความรุนแรง
เด็กทุกคนควรวิ่งหาผู้ใหญ่ได้เวลามีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ แต่เราพบว่าทุกวันนี้บ้านเรา เด็กขาดที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงอย่างรุนแรง เมื่อเค้าเจอปัญหา เค้าไม่สามารถปรึกษาหารือผู้ใหญ่ได้เลย แม้แต่ในชุมชนก็ขาดที่พึ่งให้กับเด็กๆอย่างสิ้นเชิง การสร้างระบบที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงพร้อมกระบวนการสร้างเสริมต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้นในทุกชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย
การใช้ความรุนแรง เช่น การยกพวกตีกัน บ่งบอกถึงการขาดทักษะชีวิตหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น วิธีขจัดความเครียด การผิดหวังให้เป็น การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือกระบวนการตัดสินใจที่ที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะชีวิตที่อยู่ในส่วนของพลังตัวตน ซึ่งพัฒนาได้ด้วยรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ถ้าทักษะเหล่านี้พร่อง ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดความรุนแรงตามมา หรือมีการยกพวกตีกันอย่างที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งหมอคิดว่าสำคัญ คือ บทบาทของพ่อแม่ที่หายไป อันนี้เห็นเป็นปัญหาชัดเจนเลย ยกตัวอย่างปัญหาเพศที่สาม เรื่องเพศมีความหมายมากกับการเลี้ยงดู โดยเฉพาะเด็กผู้ชายกับการเลี้ยงดูของพ่อ เพราะในช่วงปฐมวัย เขาจะเริ่มกำหนดเพศของตัวเอง เริ่มลอกเลียนแบบ มองพ่อเป็นฮีโร่ อยากเป็นแบบพ่อ เพราะพ่อจะมีวิธีเล่น หรือทำกิจกรรมกับลูกที่แตกต่างไปจากแม่ จะดูตื่นเต้น น่าตื่นตาตื่นใจ มีความเข้มแข็ง บึกบึน ขณะที่แม่จะละเอียดอ่อน ใส่ใจความรู้สึก ความใกล้ชิดและการเห็นแบบอย่างเหล่านี้ จะทำให้เด็กซึมซับแบบอย่างของพ่อ มีพ่อเป็นแบบอย่างของความเป็นผู้ชาย ช่วยป้องกันปัญหาเรื่องเพศทางเลือก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่มาจากต้นทุนชีวิตบางด้านขาดหายไป
"ต้นทุนชีวิต" เด็กและเยาวชนไทยวัดจากอะไร? เราได้จัดทำแบบสำรวจที่ประกอบด้วยตัวชี้วัด 48 ข้อ แบบสำรวจนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100 % เพราะคนเรามีพื้นฐานที่หลากหลายมาก แต่อย่างน้อยๆ กรอบแนวคิดนี้ จะช่วยให้เรารู้ว่า เราหลงลืมบางเรื่องที่สำคัญไปหรือเปล่า เช่น พ่อแม่นิยมส่งลูกเรียนพิเศษ ซึ่งตอนนี้เป็นกระแสที่แรงมาก มีโรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นมากมาย เด็กไปเรียนแล้วกลับมาผลการเรียนดีขึ้น พ่อแม่ก็ภูมิใจ และอาจบอกว่าลูกชั้นมีต้นทุนชีวิตที่สูงแล้วล่ะ แต่พอเรามาดูในภาพรวมทั้งหมด จะเห็นว่ามันมีบางส่วนที่หายไป เช่น เด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นเลย เพราะวันๆ อยู่แต่กับการเรียน เด็กเหล่านี้ผิดหวังไม่เป็น คะแนนหล่นไม่ได้ เพราะพ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องมีผลการเรียนดี แต่ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพ่อแม่ อะไรจะเกิดขึ้นกับเด็ก ถ้าเด็กเหล่านี้พบกับความเครียดหรือความผิดหวังในชีวิต กรอบแนวคิดเรื่องต้นทุนชีวิตที่เราพัฒนาขึ้นมานี้ จะช่วยกระตุกทั้งพ่อแม่และชุมชนให้หันมามองว่ามีเรื่องไหนบ้างหรือไม่ที่เรายังไม่ได้ทำเพื่อเด็ก แบบสำรวจนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่เราหวังว่าจะช่วยบอกผู้ใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง